ความเป็นมาของโครงการ


โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี หรือทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข M81 เป็นหนึ่งโครงการสําคัญที่มีความจําเป็นเร่งด่วน โดยได้รับการบรรจุ ในแผนมาตรการเร่งรัดการลงทุน Action Plan ของกระทรวงคมนาคม และมาตรการเร่งรัดโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP Fast Track) ของกระทรวงการคลัง เพื่อเร่งรัดการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
ปัจจุบันกรมทางหลวงอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างงานโยธาซึ่งแบ่งออกเป็น 25 สัญญา เพื่อเร่งรัดการดำเนินงานก่อสร้างให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนด สำหรับการก่อสร้างงานระบบ การดำเนินงานและการบำรุงรักษาภายหลังจากโครงการเปิดให้บริการ คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2560 อนุมัติให้กรมทางหลวงเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนร่วมลงทุนและบริหารจัดการ ในรูปแบบ PPP Gross Cost ซึ่งเอกชนจะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างงานระบบและจัดเก็บรายได้ทั้งหมดส่งมอบให้แก่ภาครัฐ โดยภาคเอกชนจะได้รับค่าจ้าง/ตอบแทนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา พร้อมทั้งจ่ายคืนค่าก่อสร้างงานระบบตามกรอบระยะเวลาและเงื่อนไขที่กำหนด

รายละเอียดโครงการ ประกอบด้วย


1. แนวเส้นทาง

แนวเส้นทางโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่-กาญจนบุรี มีระยะทางรวมประมาณ 96 กิโลเมตร โดยออกแบบให้มีการควบคุมการเข้าออกอย่างสมบูรณ์ มีเริ่มต้นที่จุดตัดทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ด้านตะวันตกกับถนนรัตนาธิเบศร์ บริเวณทางแยกต่างระดับบางใหญ่ อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี และไปบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 324 (ถนนกาญจนบุรี-อ.พนมทวน) อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดโครงการ
ตลอดแนวเส้นทางจะมีทางแยกต่างระดับ (Interchange) เพื่อเชื่อมต่อกับโครงการกับทางหลวงสายสําคัญๆ มีทั้งหมด 8 แห่ง ดังนี้
1) ทางแยกต่างระดับบางใหญ่ เชื่อมต่อกับทางพิเศษหมายเลข 9 และถนนรัตนาธิเบศร์ (ทางหลวงหมายเลข 302)
2) ทางแยกต่างระดับนครชัยศรี (ทางหลวงหมายเลข 3323)
3) ชุมทางต่างระดับนครชัยศรี (ทางหลวงพิเศษหมายเลข 91)
4) ทางแยกต่างระดับนครปฐมฝั่งตะวันออก (ทางหลวงหมายเลข 3036)
5) ทางแยกต่างระดับนครปฐมฝั่งตะวันตก (ทางหลวงหมายเลข 321)
6) ทางแยกต่างระดับท่ามะกา (ทางหลวงหมายเลข 3394)
7) ทางแยกต่างระดับท่าม่วง (ทางหลวงหมายเลข 3081)
8) ทางแยกต่างระดับกาญจนบุรี (ทางหลวงหมายเลข 324)
พร้อมด่านเก็บค่าผ่านทางจำนวน 8 แห่ง ดังนี้
1) ด่านบางใหญ่
2) ด่านนครชัยศรี
3) ด่านศรีษะทอง
4) ด่านนครปฐมฝั่งตะวันออก
5) ด่านนครปฐมฝั่งตะวันตก
6) ด่านท่าม่วง
7) ด่านท่ามะกา
8) ด่านกาญจนบุรี
นอกจากนี้ ยังจัดให้มีที่พักริมทาง (Rest Area) เพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้เส้นทางโดยตรงจำนวน 3 แห่ง ตลอดแนวเส้นทางโครงการ โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1) สถานที่บริการทางหลวง (Service Area) 2 แห่ง
- อำเภอนครชัยศรี
- อำเภอเมืองนครปฐม
2) จุดพักรถ (Rest Stop) 1 แห่ง
- อำเภอท่ามะกา
** การลงทุนและบริหารจัดการที่พักริมทาง (Rest Area) ไม่ได้รวมอยู่ในการ่วมทุน PPP ส่วนงาน O&M

2. รูปแบบการก่อสร้าง

เป็นการก่อสร้างทางแนวใหม่ตามมาตรฐานทางหลวงพิเศษ ขนาด 4-6 ช่องจราจร เขตทางทั่วไปกว้างประมาณ 70 เมตร (บริเวณที่มีการออกแบบทางบริการจะเพิ่มความกว้างเขตทางออกไปด้านละ 20 เมตร) ผิวทางเป็นแบบแอสฟัลท์ติกคอนกรีต แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่
- ช่วงที่ 1 บางใหญ่-นครปฐม (ทางหลวงหมายเลข 321) (กม.2+750 - กม.47+500) ออกแบบเป็นทางหลวงพิเศษบนดินขนาด 6 ช่องจราจร
- ช่วงที่ 2 นครปฐม (ทางหลวงหมายเลข 321)-กาญจนบุรี (กม.47+500 - กม.96+410) ออกแบบเป็นทางหลวงพิเศษบนดินขนาด 4 ช่องจราจร
โดยตลอดสายทางได้ออกแบบให้มีทางลอดและทางข้ามเพื่อลดผลกระทบให้กับประชาชนในพื้นที่ และจากความเหมาะสมของสภาพพื้นที่ได้ออกแบบให้มีทางยกระดับไว้บริเวณช่วงต้นของโครงการ คือ กม.0+400 - กม.2+750 เนื่องจากช่วงนี้มีสภาพเป็นชุมชนหนาแน่นโดยเฉพาะหมู่บ้านจัดสรรซึ่งมีอยู่จํานวนมาก จึงได้ออกแบบเป็นสะพานยกระดับยาวต่อเนื่องไปจนถึงด่านเก็บค่าผ่านทางบางใหญ่

3. การจัดเก็บค่าผ่านทาง

การจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง กรมทางหลวงได้กำหนดให้จัดเก็บค่าผ่านทางแบบระบบปิด (Closed System) ซึ่งคิดค่าธรรมเนียมตามระยะทางที่ใช้จริง โดยกรมทางหลวงจะกำหนดให้มีวิธีการจัดเก็บค่าผ่านทางทั้งแบบเงินสด (Manual Toll Collection : MTC) แบบอัตโนมัติ (Electronic Toll Collection : ETC ) และแบบ Multi-lane free flow (M-Flow)
ภาพตัวอย่างทัศนียภาพด่านเก็บค่าผ่านทาง
ภาพตัวอย่างทัศนียภาพด่านเก็บค่าผ่านทาง
ภาพตัวอย่างทัศนียภาพด่านเก็บค่าผ่านทาง
ได้กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมผ่านทางที่เหมาะสม สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน โดยพิจารณาจากการวิเคราะห์รายได้ค่าผ่านทางที่คาดว่าจะจัดเก็บได้ในอนาคต และอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจของโครงการ สรุปอัตราค่าผ่านทางได้ ดังนี้
ประเภทรถ อัตราค่าผ่านทาง
(อัตราแรกเข้า + อัตราคิดตามระยะทาง)
รถยนต์ 4 ล้อ 10 บาท + 1.50 บาท/กม.
รถยนต์ 6 ล้อ 16 บาท + 2.40 บาท/กม.
รถยนต์มากกว่า 6 ล้อ 23 บาท + 3.45 บาท/กม.

4. ระบบการบริหารจัดการ

เพื่อความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยในการเดินทางของผู้ใช้ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการดำเนินงานก่อสร้างงานระบบต่างๆ เพื่อการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) ที่มีประสิทธิภาพ ดังนี้

1) ระบบควบคุมการจราจร (Traffic Control Surveillance System)

เป็นระบบที่จะช่วยลดโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุของผู้ใช้ทาง และช่วยอำนวยการจราจรให้มีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น โดยระบบประกอบด้วยห้องควบคุมกลาง เพื่อเชื่อมโยงสั่งการไปยังเครื่องมืออุปกรณ์อำนวยการจราจรต่างๆ ตลอดสายทาง ประกอบด้วย
ระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด

ระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (Close Circuit Television System, CCTV)

สำหรับการตรวจตราสภาพการจราจรบนทางพิเศษ
ระบบโทรศัพท์ฉุกเฉิน (Emergency Telephone System, ETS)

ระบบโทรศัพท์ฉุกเฉิน (Emergency Telephone System, ETS)

เพื่อรองรับการติดต่อสื่อสารของผู้ใช้ทางกับเจ้าหน้าที่ ควบคุมการจราจร ในกรณีที่ผู้ใช้ทางต้องการความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่
ระบบโทรศัพท์ (IP Phone)

ระบบโทรศัพท์ (IP Phone)

เป็นระบบโทรศัพท์รองรับการสื่อสารระหว่างด่านเก็บเงิน
ระบบป้ายปรับเปลี่ยนข้อความ (Variable Messenger Sign, VMS)

ระบบป้ายปรับเปลี่ยนข้อความ (Variable Message Sign, VMS)

ใช้บอกและแสดงข้อมูลต่างๆ เพื่อแนะนำและเตือนผู้ใช้ทาง
ระบบป้ายสัญญาณปรับได้ (Matrix Sign, MS)

ระบบป้ายสัญญาณปรับได้ (Matrix Sign, MS)

ใช้แสดงสัญญาณลักษณะและเครื่องหมายจราจรที่เปลี่ยนแปลงได้
ระบบนาฬิกามาตรฐาน (Clock System)

ระบบนาฬิกามาตรฐาน (Clock System)

เป็นเวลามาตรฐานเพื่อใช้เปรียบเทียบเวลาที่แม่นยำและเที่ยงตรงของระบบเก็บค่าผ่านทางและระบบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ระบบวิทยุสื่อสาร (Radio Communication)

ระบบวิทยุสื่อสาร (Radio Communication)

ใช้เป็นตัวรับ-ส่งสัญญาณสำหรับการติดตั้งสื่อสารต่างๆ ให้ครอบคลุมพื้นที่โครงการ
ระบบตรวจนับจำนวนยานพาหนะ (Vehicle Detector System, VDS)

ระบบตรวจนับจำนวนยานพาหนะ (Vehicle Detector System, VDS)

โดยติดตั้งทุกช่องจราจร เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์สภาพจราจร
ระบบสื่อสารข้อมูล (Graphic Display Panel)

ระบบสื่อสารข้อมูล (Graphic Display Panel)

ทำหน้าที่รับ-ส่ง ข้อมูลของระบบการควบคุมการจราจร และระบบจัดเก็บค่าผ่านทางมายังศูนย์ควบคุม
ระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมจราจร (Central Computer System, CCS)

ระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมจราจร (Central Computer System, CCS)

มีหน้าที่หลักในการจัดการข้อมูลรวมที่ศูนย์ควบคุม (CCB)
ระบบเครือข่ายสื่อสารข้อมูล (Communication Network System)

ระบบเครือข่ายสื่อสารข้อมูล (Communication Network System)

เป็นระบบสื่อสารหลัก (Backbone) มีหน้าที่หลักในการรับ-ส่งข้อมูล ผ่านโครงข่ายไฟเบอร์ออพติก

2) ระบบชั่งน้ำหนัก

ระบบชั่งน้ำหนักบริเวณด่านเก็บค่าผ่านทาง เพื่อคัดกรองรถบรรทุกที่บรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ที่อาจทำความเสียหายต่อโครงสร้างทาง ซึ่งระบบประกอบด้วย ระบบเครื่องชั่งแบบเคลื่อนที่ (Dynamic หรือ Weighing in Motion System, WIM) และแบบจอดชั่ง (Static Weighbridge) โดยลักษณะการทำงาน รถบรรทุกจะแล่นผ่านสถานีแบบเคลื่อน (WIM) ก่อน ถ้าน้ำหนักไม่เกินกำหนดก็สามารถวิ่งเข้าใช้ทางพิเศษได้ ส่วนรถที่มีน้ำหนักเกินจะต้องเข้าชั่งน้ำหนักอีกครั้งหนึ่งที่สถานีแบบจอดชั่ง (Static Weighbridge, SWB) เพื่อตรวจสอบน้ำหนักที่มีผลถูกต้องแม่นยำ

3) ระบบกู้ภัย

โครงการได้ออกแบบให้มีระบบกู้ภัยตลอดสายทาง เพื่ออำนวยความปลอดภัย และช่วยเหลือผู้ใช้ทางในยามฉุกเฉิน ให้สามารถเข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุภายในช่วงระยะเวลาที่กำหนด
ภาพตัวอย่างงานระบบกู้ภัย

5. ที่พักริมทาง (Rest Area)

6. มาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและชุมชน

โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ได้ผ่านความเห็นชอบในรายงาน การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) 2 ช่วง ได้แก่
• ช่วงการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่–บ้านโป่ง (ดําเนินการระหว่างช่วงปี พ.ศ.2539-พ.ศ.2541) ได้ผ่านความเห็นชอบในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม จากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2541
• ช่วงการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบ้านโป่ง–กาญจนบุรี (ดําเนินการระหว่างช่วงปี พ.ศ.2543-พ.ศ.2546) โดยรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ.2546
ต่อมาในระหว่างปี พ.ศ.2551-พ.ศ.2552 กรมทางหลวงได้การดําเนินการสํารวจและออกแบบรายละเอียดโครงการทางหลวงพิเศษหมายเลข 81 สายบางใหญ่–กาญจนบุรี ซึ่งได้กําหนดให้มีการทบทวนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมอีกครั้ง แต่เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาสภาพแวดล้อมในพื้นที่โครงการได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ดังนั้น
ในปี พ.ศ.2559 กรมทางหลวงจึงได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา ให้ดำเนินการทบทวนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่-กาญจนบุรี เพื่อทบทวนรายละเอียดโครงการในส่วนที่มีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญไปจากรายงาน EIA เดิม โดยผลการศึกษาดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว ในปี พ.ศ. 2560

สถานะโครงการ


สถานะการดำเนินงานของโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่-กาญจนบุรี มีรายละเอียดดังนี้
1) สัญญาก่อสร้างงานโยธา : แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 25 สัญญา ปัจจุบันลงนามสัญญาก่อสร้างครบถ้วนแล้ว โดยมีความก้าวหน้าของงานก่อสร้างโยธาแล้วประมาณ 84% (ข้อมูล ณ ตุลาคม 2565)

2) การให้เอกชนร่วมลงทุนก่อสร้างงานระบบ พร้อมดำเนินงานและบำรุงรักษา: คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี สำหรับการให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance : O&M) เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2563 ปัจจุบันลงนามในสัญญาการให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance : O&M) แล้ว เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2564 ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างงานระบบ
3) การให้เอกชนร่วมลงทุนและบริหารจัดการที่พักริมทาง (Rest Area) : ปัจจุบันคณะกรรมการนโยบาย PPP ให้ความเห็นชอบรูปแบบการดำเนินโครงการร่วมลงทุนแล้ว และคาดสามารถเริ่มการหาตัวเอกชนร่วมลงทุนได้ในปี 2565-2566 และเปิดให้บริการพร้อมโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง