ความเป็นมาของโครงการ


โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ทางยกระดับสายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ช่วงบางขุนเทียน - บางบัวทอง หรือ M9 เป็นหนึ่งในโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560 – 2579) เนื่องจากปัจจุบันการเดินทางบนถนนกาญจนาภิเษก ประสบปัญหาจราจรติดขัดโดยเฉพาะช่วงบางใหญ่ - บางขุนเทียน มีการใช้ประโยชน์พื้นที่ 2 ข้างทางอย่างหนาแน่น ส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรอย่างรุนแรง ทั้งช่วงเวลาเร่งด่วนเช้าและเย็นโดยทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงเทศกาลและวันหยุดนักขัตฤกษ์ ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าวกระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวง จึงเร่งเดินหน้าพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ทางยกระดับสายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ช่วงบางขุนเทียน – บางบัวทอง โดยเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมลงทุนในโครงการโดยนำความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ความเชี่ยวชาญเข้ามาบริหารจัดการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการโครงการ

รายละเอียดโครงการ ประกอบด้วย


1. แนวเส้นทาง

แนวเส้นทางโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ทางยกระดับสายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ช่วงบางขุนเทียน - บางบัวทอง หรือ M9 มีจุดเริ่มต้นโครงการอยู่บริเวณทางแยกต่างระดับบางขุนเทียนเชื่อมต่อกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 ด้านทิศใต้, ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 82 สายบางขุนเทียน – บ้านแพ้ว และทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครแนวเส้นทางมุ่งไปทางทิศเหนือ ผ่านทางรถไฟสายแม่กลอง มีทางขึ้น – ลง พระราม 2 ทางขึ้นเชื่อมกับถนนเอกชัย ถนนกัลปพฤกษ์ ถนนเพชรเกษม ถนนพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4 ถนนบรมราชชนนี ทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร และถนนนครอินทร์ ทางแยกต่างระดับบางใหญ่เชื่อมต่อกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี จากนั้นแนวเส้นทางทางขนานไปกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงผ่านสถานีตลาดบางใหญ่ สถานีคลองไผ่ บางบัวทอง และสิ้นสุดโครงการบริเวณห่างจากทางแยกต่างระดับบางบัวทองประมาณ 1 กิโลเมตร รวมระยะทางประมาร 38 กิโลเมตร โดยตลอดสายทางมีจุดขึ้น-ลง/จุดเชื่อมต่อ จำนวน 14 แห่ง ดังนี้
1) จุดเชื่อมต่อทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน
2) จุดขึ้น-ลงพระราม 2
3) จุดขึ้นเอกชัย
4) จุดขึ้นกัลปพฤกษ์
5) จุดขึ้น-ลงเพชรเกษม
6) จุดขึ้น-ลงพรานนก-พุทธมณฑล
7) จุดขึ้น-ลงบรมราชชนนี
8) จุดเชื่อมต่อทางแยกต่างระดับบรมราชชนนี
9) จุดเชื่อมต่อทางแยกต่างระดับศรีรัช
10) จุดขึ้น-ลงนครอินทร์
11) จุดขึ้น-ลงบางใหญ่
12) จุดเชื่อมต่อทางแยกต่างระดับบางใหญ่
13) จุดขึ้น-ลงบางบัวทอง
14) จุดเชื่อมต่อทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 ช่วงบางบัวทอง-บางปะอิน

2. รูปแบบการก่อสร้าง

เป็นทางยกระดับอยู่บนถนนกาญจนาภิเษก ระยะทางรวมทั้งโครงการประมาณ 38 กิโลเมตร มีขนาด 6 ช่องจราจร (ทิศทางละ 3 ช่องจราจร) กว้างช่องจราจรละ 3 เมตร ไหล่ทางด้านซ้าย กว้าง 2 เมตร ไหล่ทางด้านขวากว้าง 1 เมตร

3. การจัดเก็บค่าผ่านทาง

การจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง กรมทางหลวงได้กำหนดให้จัดเก็บค่าผ่านทางแบบระบบปิด (Closed System) ซึ่งคิดค่าธรรมเนียมตามระยะทางที่ใช้จริง โดยกรมทางหลวงจะกำหนดให้มีวิธีการจัดเก็บค่าผ่านทางทั้งแบบเงินสด (Manual Toll Collection : MTC) และแบบอัตโนมัติ (Electronic Toll Collection : ETC ) ซึ่งสามารถพัฒนาสู่ระบบให้เป็นแบบ (Multi-lane-free flow) หรือ M-Flow

4. ระบบการบริหารจัดการ

เพื่อความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยในการเดินทางของผู้ใช้ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดให้มีระบบต่าง ๆ ดังนี้

1) ระบบควบคุมการจราจร (Traffic Control Surveillance System)

เป็นระบบที่จะช่วยลดโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุของผู้ใช้ทาง และช่วยอำนวยการจราจรให้มีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น โดยระบบประกอบด้วยห้องควบคุมกลาง เพื่อเชื่อมโยงสั่งการไปยังเครื่องมืออุปกรณ์อำนวยการจราจรต่าง ๆ ตลอดสายทาง ประกอบด้วย

2) ระบบกู้ภัย

โครงการได้ออกแบบให้มีระบบกู้ภัยตลอดสายทาง เพื่ออำนวยความปลอดภัย และช่วยเหลือผู้ใช้ทางในยามฉุกเฉิน ให้สามารถเข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุภายในช่วงระยะเวลาที่กำหนด
ภาพตัวอย่างงานระบบกู้ภัย

สถานะและแผนการดำเนินโครงการ


สถานะการดำเนินงานของโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ช่วงบางขุนเทียน - บางบัวทอง มีรายละเอียดดังนี้
1) การศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Feasibility Study) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ช่วงบางขุนเทียน - บางบัวทอง แล้วเสร็จ เมื่อปี 2558
2) รายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อยู่ระหว่างดำเนินการคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2566
3) การออกแบบกรอบรายละเอียด (Definitive Design) และการศึกษารูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนที่เหมาะสม โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ทางยกระดับสายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ช่วงบางขุนเทียน - บางบัวทอง ดำเนินการแล้วเสร็จ
4) ปัจจุบันคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนฯ พิจารณารูปแบบ PPP แล้วเมื่อ 21 กันยายน 2565 โดยให้จัดทำข้อมูลเพิ่มเติมและเสนอเข้าประชุมคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนฯ ครั้งถัดไป คาดว่าจะดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในปี 2566 และเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2567-2570 และเปิดให้บริการปี 2571